“ช่วงหลังมานี้ เราจะเห็นผู้สนใจเรียนภาษาไทยเพิ่มมากขึ้น และมาจากหลายประเทศทั่วโลกด้วย กระแสความสนใจนี้มาพร้อมกับการเปิดอะไรหลาย ๆ อย่าง ทั้งโลกดิจิทัล การเปิดพรมแดนในด้านของภาษา การเดินทางที่ง่ายขึ้น การส่งออกสินค้าไปจนถึงการส่งออกละคร ซีรีส์ และกระแส soft power ต่าง ๆ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกียรติ เทพช่วยสุข ผู้อำนวยการศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

ไม่ว่าจะเรียนเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ ทำธุรกิจการค้า เรียนเพื่อสื่อสารกับดาราที่ชื่นชอบ หรือแม้กระทั่งเรียนเพื่อความสนุก ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ภาษาไทยยาก”
แต่สำหรับ อ.เกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์และการสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติกล่าวว่า “ภาษาไทยเข้าใจง่ายกว่าที่คิด และยังมีอะไรสนุก ๆ รอให้ได้เรียนรู้อีกมากมาย หากเรารู้หลักและจับจุดได้”
ในบทความนี้ อ.เกียรติจะได้ให้คำแนะนำและหลักภาษาแบบเข้าใจง่ายสำหรับผู้ที่คิดจะเรียนภาษาไทยอย่างจริงจัง หรือแม้แต่เจ้าของภาษาเองก็จะได้รู้เกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับภาษาไทย ที่จะทำให้เห็นว่าภาษาไทยนั้นไม่ซับซ้อนอย่างที่คิด แถมเป็นภาษาที่มีเสน่ห์ สะท้อนความเป็นคนสนุกสนานและช่างคิดสร้างสรรค์ของคนไทยด้วย
ภาษาไทยง่ายนิดเดียว…จริงหรือ?
นักเรียนที่เริ่มต้นเรียนภาษาไทยโดยส่วนใหญ่มักบอกว่าภาษาไทยยาก อ.เกียรติกล่าวว่านั่นเป็นเพราะคุณลักษณะเฉพาะของภาษาไทยที่แตกต่างจากภาษาแม่ของผู้เรียนชาวต่างชาติในแง่มุมต่างๆ ดังนี้
1. ระบบการเขียน ระบบไวยากรณ์ และระบบเสียง
ภาษาไทยมีระบบการเขียนและตัวอักษรเป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นตัวอักษรที่ไม่ได้ใช้ร่วมกันกับภาษาใดเลย และยังมีระบบไวยากรณ์บางอย่างที่แตกต่างจากบางภาษาที่เป็นภาษาแม่ของผู้เรียน อีกทั้งยังมีระบบวรรณยุกต์ที่ทำให้ชาวต่างชาติบางคนฟังคำบางคำแล้วแยกไม่ออกว่าเป็นคำเดียวกันหรือคนละคำ เช่น คาว ข่าว ข้าว และ ขาว เนื่องจากไม่สามารถแยกความแตกต่างของเสียงวรรณยุกต์ได้ โดยเฉพาะชาติตะวันตกเนื่องจากในภาษาของเขาไม่มี
2. ระดับภาษาที่หลากหลาย
แม้ในหลายภาษาจะมีระดับของภาษาอยู่ แต่ในภาษาไทย เรื่องระดับภาษาเป็นสิ่งที่เด่นชัดมาก
ในประโยคที่สื่อความหมายเดียวกัน เราจะเลือกใช้คำในการสื่อสารอย่างไร มีปัจจัยมากมายที่ต้องคำนึงถึงหลายประการ เช่น ประโยคนั้นเป็นภาษาพูดหรือภาษาเขียน เรากำลังจะสื่อสารกับใคร ในสถานการณ์ใด ฯลฯ ชุดคำศัพท์ที่ใช้ล้วนต่างกันทั้งสิ้น
“หากต้องการเขียนให้สละสลวย ก็ใช้คำศัพท์ชุดหนึ่ง พูดกับพ่อแม่ ครูอาจารย์ ก็เป็นคำศัพท์แบบหนึ่ง แม้กระทั่งจะพูดคุยกับเพื่อน บางครั้งยังต้องแบ่งอีกว่าเพื่อนสนิทหรือไม่สนิท คำศัพท์ที่ใช้ก็จะแตกต่างกันออกไป” อ.เกียรติอธิบาย
3. มีคำเกิดใหม่ตลอดเวลา
ทุกภาษาล้วนมีคำสแลงที่ใช้ภายในกลุ่ม แต่คนไทยนั้นจัดได้ว่าเกิดมาพร้อมกับความคิดสร้างสรรค์เชิงภาษา โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่ม LGBT+ ที่มักประดิษฐ์คำศัพท์ใหม่ ๆ ขึ้นมาใช้สื่อสารกันภายในกลุ่มอยู่เสมอ และด้วยความที่เป็นคำศัพท์ที่ออกรสชาติ มีความสนุก จึงมักแพร่กระจายออกมาใช้กันในสังคมวงกว้างด้วย ถือเป็นเสน่ห์ของภาษาไทย ที่บ่งบอกลักษณะนิสัยของคนไทยที่เป็นคนรักสนุกและมีความคิดสร้างสรรค์ได้ดีทีเดียว